Thursday, April 28, 2011

โภชนาการรายสัปดาห์ของคุณแม่ตั้งครรภ์

เขียนโดย กัมพล

เกิดอะไรขึ้นในช่วง 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ อ่านบทความนี้แล้วคุณจะรู้ว่าในแต่ละสัปดาห์ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง และคุณแม่ควรรัปประทานอาหารอย่างไรเพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกน้อยและตัวคุณแม่เอง

Week 1 วางแผนตั้งครรภ์ ถ้าไม่เคยใส่ใจกับโภชนาการที่ถูกสุขลักษณะมาเลย เห็นทีคราวนี้ต้องปฏิวัติตัวเองเพื่อลูกซะแล้ว คุณควรเริ่มกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เริ่มกินยาบำรุงประเภทวิตามินรวมวันละ 1 เม็ด (ไม่ควรเกินจากนี้) โดยคุณจะต้องปรึกษากับแพทย์ก่อน เพราะบางทีคุณอาจไม่ถึงกับต้องพึ่งยาบำรุงก็ได้แตงโมอาจช่วยให้คู่ของคุณมีน้ำเชื้อที่มากพอที่จะทำให้คุณตั้งครรภ์ได้ งด เหล้า บุหรี่ ทั้งตัวคุณ และคู่ของคุณอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้การปฏิสนธิของไข่ล้มเหลวได้ หรืออาจส่งผลต่อสุขภาพครรภ์ของคุณได้รวมทั้งคุณผู้ชายที่สูบบุหรี่จะมีน้ำเชื้อน้อยกว่าผู้ชายที่ไม่สูบ

Week 2 เลือกเพศลูก นอกจากเลือกช่วงเวลาในการร่วมเพศแล้วโภชนาการก็มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการเลือกเพศให้ลูกเช่นกัน ถ้าหากคุณต้องการลูกผู้หญิง คุณต้องกินอาหารที่มีสารอาหารประเภทแคลเซียมและแมกนีเซียมสูง ซึ่งคุณจะได้สารอาหารเหล่านี้จากอาหารจำพวกแป้ง หรือผลิตภัณฑ์นม แต่ถ้าหากคุณต้องการลูกผู้ชาย คุณต้องกินอาหารที่มีสารประเภทโปตัสเซียม และโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งคุณจะได้จาก ผัก ผลไม้สด และเนื้อสัตว์ทุกชนิด

Week 3 เริ่มการปฏิสนธิ ทันทีที่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะขยายเซลล์ออกไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ดังนั้นหากคุณต้องเอาใจใส่กับคุณภาพลูกน้อยในครรภ์ ควรเริ่มจริงจังนับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปกินอาหารที่มีกรดโฟลิกสูงจะช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์ของตัวอ่อนมีความแข็งแรงคุณควรได้รับกรดโฟลิก และวิตามินรวมให้ได้วันละ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ไปจนปลายสัปดาห์ 12

Week 4 ตัวอ่อนฝังตัวในมดลูก ช่วงนี้เองที่คุณเริ่มรู้สึกแปลกๆ ของอาการแพ้ท้อง ที่เป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้คุณได้รู้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์แล้ว อาการแปลกๆ เหล่านี้อาจทำให้คุณอยากกินอาหารแปลกๆ ที่ปกติไม่เคยชอบ หรืออยากกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวการตามใจปากบริโภคอาหารเหล่านี้เข้าไปมากอาจทำให้คุณขาดสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ของคุณได้ช่วงที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัวในเยื่อบุผนังมดลูก คุณจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพราะมันจะช่วยสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่นำเอาออกซิเจนมาสู่ตัวอ่อนได้ คุณสามารถได้รับธาตุเหล็กจากอาหารกลุ่มธัญพืชต่างๆ ถั่ว ตระกูลต่างๆ ผักขม และผงกะหรี่

Week 5 สร้างรกและอวัยวะ คุณควรกินอาหารที่มีโปรตีนสูง กรดอะมิโนที่มีอยู่ในโปรตีน จะช่วยให้ลูกของคุณมีเสบียงมากพอในการสร้างอวัยวะต่างๆ โปรตีนจะมีอยู่ในอาหารจำพวก เนื้อ, นม, โยเกิร์ต, ชีส และพืชตระกูลถั่วนอกจากนี้ธาตุเหล็ก และแคลเซียมยังคงจำเป็นอยู่มาก คุณควรเลิกดื่มชา กาแฟ เพราะคาเฟอีนจะทำให้การดูดซึมของธาตุเหล็กได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าคุณอดไม่ได้จริงๆ คุณก็สามารถดื่มได้ เพราะไม่มีอันตรายใดๆ ต่อลูกในครรภ์ แต่ควรดื่มประมาณวันละ 2-7 ถ้วยต่อวันสำหรับกาแฟสำเร็จรูป และ 1-4 ถ้วยต่อวันสำหรับชา และควรทิ้งระยะเวลาจากอาหารมื้อที่มีธาตุเหล็กประมาณครึ่งชั่วโมง เท่านี้คุณก็สามารถลิ้มรสชากาแฟ โดยที่ยังคงได้รับธาตุเหล็กอย่างเต็มที่จากอาหารมื้อปกติด้วย

Week 6 ระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ทำให้อาการแพ้ท้องเริ่มรุนแรงในบางราย คุณควรเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค กินให้น้อยลง แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น ถ้ากินอะไรไม่ได้เลย ให้กินขนมปังกรอบที่ผสมธัญพืช หรือผักโขมแทนได้ ในรายที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงมาก ให้ฝานขิงอ่อนเป็นแผ่นบางๆ แช่ในน้ำร้อน แล้วค่อยๆ จิบ จะช่วยให้ดีขึ้น นอกจากนี้ให้พยายามหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อโรคจากการกินอาหารดิบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข่ที่ไม่ได้ปรุงให้สุกเสียก่อน, อาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ และอาหารแช่แข็ง

Week 7 เซลล์ประสาทส่วนกลางและสมองพัฒนา ช่วงสำคัญที่สุดในการปูพื้นฐานสู่ความเป็นอัจฉริยะให้กับลูกอยู่ตรงนี้เอง โอเมก้าทรี คือสารอาหารที่จะช่วยให้สมองของลูกเจริญเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ซึ่งคุณจะได้รับจากน้ำมันปลา (ปลาแซลมอน, ปลาซาร์ดีน, ถั่วอัลมอล, ถั่วเหลือง, ถั่ววอลนัท), เมล็ดฟักทอง อย่าลืม! กรดโฟลิกช่วยทำให้เซลล์แต่ละตัวของตัวอ่อนแข็งแรง คุณยังคงจะต้องได้รับสารอาหารตัวนี้ต่อไปจนเข้าสัปดาห์ที่ 12

Week 8 เซลล์เม็ดสีพัฒนาระบบนัยน์ตาที่ซับซ้อนภายในสมอง คุณจึงยังต้องหมั่นกินอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้าทรีขณะเดียวกัน วิตามินบี 2 ก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกน้อยในครรภ์ คุณจึงต้องได้รับสารอาหารชนิดนี้ตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 12 สัปดาห์แรก โดยคุณจะได้วิตามินบี 2 จาก นม, ไข่แดง, ไข่ปลา, เนยแข็ง ผักใบเขียว เป็นต้น

Week 9 เซลล์กระดูกมีโครงร่างที่ชัดเจน นิ้วมือและเท้าของทารกเริ่มแยกออกจากกันแคลเซียมคือสารอาหารหลักที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกที่แข็งแรง คุณควรได้รับวันละ 700-800 มิลลิกรัมต่อวันจึงจะเพียงพอต่อการสร้างรากฐานกระดูก และฟันที่แข็งแรงให้กับทารกและยังช่วยป้องกันการขาดแคงเซียมในตัวคุณด้วย และเพื่อให้การดูดซึมแคลเซียมมีประสิทธิภาพ คุณยังต้องได้รับวิตามินดีด้วย ออกไปนอกบ้านรับแดดยามเช้าตรู่สักครึ่งชั่วโมง หรือถ้ากลัวผิวเสีย หรือไม่แน่ใจว่าแดดแรงเกินไปหรือไม่ ก็ให้กินพวกน้ำมันปลา ไข่ และนม ก็สามารถช่วยได้

Week 10 ทารกเริ่มได้อาหารจากคุณโดยตรง เพราะรกเริ่มมีการทำงานสมบูรณ์แล้ว ในช่วงนี้คุณจะต้องระมัดระวังอาหารที่บริโภคเข้าไป อาหารที่ไม่มีประโยชน์กับคุณ ก็จะให้ผลเช่นเดียวกับลูกของคุณ คุณควรงดการกินตับ และน้ำมันตับปลา หรืออาหารที่มีวิตามินเอสูง เพราะอาหารกลุ่มนี้จะมีกรดไขมันอิ่มตัวสามารถสะสมในร่างกายได้

Week 11 อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายคุณเร็วกว่าปกติ วิตามินบี 2 จำเป็นต่อเอนไซม์ต่างๆ ที่ช่วยให้กระบวนการเผาผลาญพลังงานทำงานได้ดี นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือดด้วยขณะเดียวกันคุณก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและมีรสจัดด้วย

Week 12 ร่างกายของคุณมีความต้องการน้ำมากขึ้น เพราะช่วงนี้ หน้าท้องของคุณจะขยายใหญ่จนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ดังนั้น คุณจึงต้องดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อทดแทนกับน้ำที่คุณสูญเสียไปเพราะน้ำมีความสำคัญต่อกระบวนการย่อยอาหารภายในร่างกายของคุณ

Week 13 รกเริ่มทำหน้าที่ผลิตโปรเจสเตอโรนและเอสโทล เพื่อช่วยรักษาครรภ์ และควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในร่างกายของคุณ แต่ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจทำให้คุณมีอาการอักเสบ และมีเลือดออกได้ อาหารที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยรักษาโรคเหงือกบวม และโรคเลือดออกตามไรฟันได้ ทั้งยังมีส่วนช่วยเสริมให้กระดูกและฟันของทารกในครรภ์แข็งแรงอีกด้วยวิตามินซีมีในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลาย มีมากในฝรั่ง สตรอเบอรี่ บรอ๊อคโคลี่

Week 14 ต่อมไทรอยด์พัฒนาถึงขั้นพร้อมผลิตฮอร์โมน ถ้าหากคุณชอบกินผักกะหล่ำปลี คุณจะได้รับวิตามินซีจากผักชนิดนี้ แต่ในระยะนี้คุณควรจำกัดปริมาณการบริโภคผักกะหล่ำปลีลง หรือไม่กินดิบๆ เพราะมันมีสารยับยั้งการทำงานไทรอยด์ได้

Week 15 ผิวหนังเริ่มพัฒนา ถ้าหากคุณสามารถมองทะลุเข้าไปในท้องได้ คุณจะเห็นว่าลูกของคุณมีผิวหนังที่บางและโปร่งใสจนคุณสามารถมองเห็นเส้นเลือดของเขาได้ คุณสามารถช่วยเขาพัฒนาผิวหนังให้หนาขึ้นได้ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินเอคงจำกันได้ว่าเราห้ามไม่ให้คุณกินตับเพราะภายในตับมีวิตามินเอ ถูกแล้วล่ะค่ะ วิตามินเอในตับจะอยู่ในรูปของ “เรตินอล” ซึ่งจะให้ผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนวิตามินเอ ที่จะมีประโยชน์ต่อการควบคุมกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนังจะอยู่ในรูปของ “แคโรทีน” จะมีอยู่ในแครอท ผักใบเขียวเหลือง เนย ฟักทอง

Week 16 มดลูกขยาย น้ำคร่ำในรกเพิ่มขึ้นเป็น 7 ออนซ์ครึ่งวิตามินซี จะช่วยให้คอลลาเจนรวมตัวกันได้ดี ทำให้เซลล์ยึดติดกันเหนียวแน่น วิตามินซีนอกจากจะช่วยให้กระดูกและฟันของลูกคุณแข็งแรงแล้ว ยังช่วยผิวหนังของคุณมีความยืดหยุ่นสูงทำให้การแตกลายของผิวหนังลดลงและกลับคืนมาเป็นปกติอย่างสมบูรณ์หลังคลอด แต่คุณก็ไม่ควรลืมทาโลชั่นบริเวณผิวหนังที่แตกลายร่วมด้วยนะคะ

Week 17 ไขเคลือบผิวทารกเริ่มพัฒนาขึ้น เป็นไขมันชนิดพิเศษที่จะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ทารกตลอดระยะเวลาที่อยู่ในครรภ์และช่วยปกป้องผิวอ่อนบางของทารกด้วย ไบโอตินจะช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และดูดซึมกรดไขมัน วิตามินช่วยลดไขมันที่มีสภาพเป็นกลางในเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวกมีมากในถั่วต่างๆ ผลไม้ น้ำมันจากข้าวสาลี เมล็ดทานตะวัน และผักเขียวปนเหลือง

Week 18 ระบบประสาทหู พัฒนาจนใช้งานได้แล้ว อวัยวะต่างๆ เติบโตจนทำให้ลูกของคุณสามารถรับรู้ความรู้สึกจากโลกภายนอกได้แล้วไบโอตินนอกจากจะช่วยในการถนอมผิวพรรณแล้ว ยังมีความสำคัญต่อระบบประสาทด้วยขณะที่วิตามินบี 1 จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นอาหารต่อระบบประสาท และยังช่วยปกป้องคุณจากโรคเหน็บชา อันเนื่องมาจากน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้นและไปกดทับเส้นเลือดของคุณ ทำให้การหมุนเวียนของเลือดติดขัด มีมากในธัญพืช ข้าวกล้อง เนื้อวัว หรือเนื้อหมู เต้าหู้ ถั่วหมัก งา กระเทียม

Week 19 หนังศรีษะเริ่มมีผมงอกออกมา เล็บมือและเท้าเริ่มเจริญขึ้นผิวหนังหนาขึ้นเป็น 4 ชั้นแล้ว ในช่วงนี้คุณควรเริ่มให้ความสำคัญกับอาหารที่มีสังกะสีเพราะนอกจากจะช่วยเสริมการเติบโตของทารกน้อยในครรภ์คุณแล้ว ยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดด้วย มีมากในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ถั่วอบแห้ง

Week 20 มดลูกขยายเบียดเข้าไปในช่องท้อง ช่วงนี้คุณจึงอาจมีปัญหาท้องผูกบ่อยๆ ถ้าปล่อยไว้อาจเป็นริดสีดวงทวารได้ คาร์โบไฮเดรตนอกจากจะให้พลังงานกับคุณแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาท้องผูกให้กับคุณได้อีกด้วย มีมากในข้าว มันฝรั่ง ขนมปังโฮลวีต

Week 21 ระบบการย่อยอาหารพัฒนาจนสามารถดูดซึมน้ำ และน้ำตาลจากน้ำคร่ำที่กลืนเข้าไปได้ และขับของเสียออกมาในลำไส้ใหญ่ช่วงนี้ร่างกายของคุณมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการเผาผลาญอาหารไนอะซินจะช่วยเปลี่ยนน้ำตาล และไขมัน เป็นพลังงาน และยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทั้งของคุณ และเจ้าตัวน้อยในครรภ์ มีการทำงานที่ดีขึ้นด้วย มีมากในเนื้อหมู ไก่ ปลา เห็ด ถั่วต่างๆ งา และธัญพืช

Week 22 เซลล์ประสาทพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ประสาทสัมผัสเจริญเต็มที่ ลูกของคุณจะใช้ประสาทส่วนนี้ในการเรียนรู้การเคลื่อนไหวความแตกต่าง และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของร่างกาย วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และช่วยบำรุงระบบประสาทส่วนกลางและเส้นประสาทส่วนปลาย มีมากในเนื้อวัว ไก่ หมู ปลา นม เนยแข็ง

Week 23 ปริมาณพลาสมาในตัวคุณเพิ่มขึ้น ทำให้คุณมีโอกาสเกิดภาวะโลหิตจางได้ ควรให้แพทย์ตรวจดูว่าคุณได้รับธาตุเหล็กเพียงพอหรือไม่ เพราะภาวะโลหิตจาง หากเป็นมากอาจเข้าขั้นอันตรายได้

Week 24 น้ำหนักของคุณเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุด การกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงตลอดช่วงของการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายจะทำให้มีไขมันน้อยลง ทำให้ทรวงทรงของคุณกระชับเข้าที่ได้อย่างรวดเร็วหลังคลอดแถมยังช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ด้วย คุณจะได้ไฟเบอร์จากผัก ผลไม้ ธัญพืช

Week 25 อวัยวะเพศ และระบบสืบพันธ์พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน ช่วงนี้การแบ่งเพศชายหญิงในตัวทารกจะชัดเจนแล้ว เด็กชายจะเริ่มมีถุงอัณฑะ ส่วนเด็กหญิงบริเวณช่องคลอดจะมีช่องลึกเข้าไป วิตามินเอ จะช่วยพัฒนาอวัยวะสืบพันธ์ของทารก

Week 26 ระบบนัยน์ตาพัฒนาเกือบสมบูรณ์ ลูกของคุณเริ่มลืมตาขึ้นได้แล้วในสัปดาห์นี้ สีนัยน์ตาของเขาจะพัฒนาต่อไปจนหลังคลอด 2-3 เดือน สีนัยน์ตาจึงถูกกำหนดขึ้นอย่างถาวรโดยรูม่านตา อย่าลืม! โอเมก้าทรีช่วยพัฒนาระบบนัยน์ตาของทารก

Week 27 ระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังอ่อนแอ ลูกของคุณมีรูปร่างหน้าตาคล้ายทารกแรกคลอดแล้วล่ะ ถ้าเขาเกิดอยากออกมาดูโลกตอนนี้ เขาจะมีโอกาสรอดชีวิต 85% ภายใต้การดูแลพิเศษ ปัญหาคือว่าระบบต่างๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังมีการทำงานที่ไม่เต็มที่และระบบภูมิต้านทานยังอ่อนแออยู่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม โอเมก้าทรี วิตามินซี ล้วนช่วยให้เขามีการเติบโตที่แข็งแรงมากขึ้น

Week 28 ถึงเวลาทดสอบภาวะต่างๆ ในร่างกายของคุณแล้ว ช่วงนี้คุณหมอจะนัดคุณถี่ขึ้น เพราะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายอาจภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นได้ แถมร่างกายของคุณก็อ่อนล้าจากการเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลายอย่าง คาร์โบไฮเดรตและวิตามินบี 1 จะช่วยให้คุณมีพละกำลังพร้อมที่จะอึดเพื่อลูกน้อยในครรภ์ของคุณต่อไป

Week 29 โปรแลคตินกระตุ้นเต้านมพร้อมผลิตน้ำนม ช่วงนี้หัวนมของคุณอาจมีน้ำนมสีเหลืองข้นไหลออกมา ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำงานของเต้านม คุณควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินซี วิตามินดี จะช่วยให้ร่างกายของคุณเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมไว้ให้กับลูกน้อยของคุณ

Week 30 มดลูกเริ่มหดรัดตัวเป็นครั้งแรก คุณจะรู้สึกเกร็งที่ยอดมดลูกเป็นพักๆ แต่ยังไม่ใช่อาการเจ็บท้องคลอด เป็นเพียงการเตรียมท่าของทารกให้พร้อมสำหรับการคลอดเท่านั้นไบโอตินในผลไม้สดแช่เย็น หลังอาหารจะทำให้คุณรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และยังช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายอีกด้วย

Week 31 ปอดของลูกคุณพัฒนาขึ้นจนเกือบสมบูรณ์ ถุงลมในปอดสามารถหลั่งสารชนิดหนึ่งออกมาเพื่อช่วยให้ถุงลมสามารถทำหน้าที่ของมันได้ หากทารกก่อนคลอดก่อนกำหนด แต่ตอนนี้เขายังต้องพึ่งออกซิเจนที่มีอยู่ในกระแสเลือดที่ฉีดเข้ามาทางสายสะดืออยู่ ช่วงนี้วิตามินซี มีความจำเป็นมาก มันจะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและช่วยสร้างเม็ดเลือดให้กับทารกในครรภ์ขณะที่แคลเซียมยังเป็นสิ่งที่จำเป็นวิตามินเค จะช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังให้กับคุณ

Week 32 ศรีษะของลูกคุณเริ่มเคลื่อนลงแล้ว ลำตัวของเขาจะใหญ่ขึ้นจนเท้าชี้ขึ้นไปถึงซี่โครง แรงกดทำให้คุณรู้สึกเจ็บชายโครง อย่าลืมขอวิตามินเสริมจากหมอที่คุณฝากครรภ์ ลูกของคุณต้องการการบำรุงมากเป็นพิเศษในช่วงนี้

Week 33 ภาวะโลหิตจางในตัวคุณลดลง สืบเนื่องมาจากปริมาณพลาสมาเริ่มมีปริมาณเท่ากับเซลล์เม็ดเลือดแดง อีกทั้งภาวะร่างกายของคุณในช่วงนี้ จะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารมื้อปกติเพิ่มขึ้นเป็น 66% คุณจึงไม่ต้องกังวลกับการบำรุงด้วยธาตุเหล็กอีกต่อไปแล้ว เว้นแต่คุณจะเป็นโรคโลหิตจาง

Week 34 ลูกของคุณอยู่ในท่าพร้อมที่จะคลอดแล้ว ต่อมหมวกไตของเขาจะผลิตฮอร์โมนสเตียรอยด์ออกมามากเป็น 10 เท่าของร่างกายผู้ใหญ่การทำงานของปอดดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องพึ่งการดูแลพิเศษ หากต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ถึงสอย่างนั้นเขาก็ยังอยากอยู่ข้างในท้องของคุณ ดึงแคลเซียมจากร่างกายของคุณมาเสริมสร้างกระดูกของเขาให้มีความแข็งแรงมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่าแคลเซียมยังจำเป็นเสมอสำหรับคุณ

Week 35 ยอดมดลูกขยับขึ้นในระดับสูงสุด อยู่ใต้กระดูกสันอกทำให้คุณหายใจขัดเจ็บชายซี่โครง รับประทานอาหารลำบาก ลองใช้วิธีเดียวกับตอนแพ้ท้องใหม่ๆ ดูซิคะ รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง และพักผ่อนให้มากจะช่วยได้

Week 36 กระโหลกศรีษะเป็นรูปร่าง แต่ยังไม่แข็งแรงพอแคลเซียม วิตามินซี วิตามินดี และโอเมก้าทรี จะช่วยให้กะโหลกศรีษะของลูกคุณแข็งแรงมากขึ้นและพร้อมที่จะมุดตัวโผล่พ้นช่องคลอดออกมาพบกับคุณในไม่อีกกี่สัปดาห์นี้

Week 37 เริ่มมีการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง และจะมีการสร้างต่อไปอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังคลอดเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท มีความสำคัญต่อสมองอัจฉริยะของลูกคุณจำได้หรือไม่? โอเมก้าทรี อาหารพลังสมองของลูกในท้องของคุณ

Week 38 ทารกเริ่มเคลื่อนศรีษะลงมาอยู่ที่อุ้งเชิงกราน ทำให้คุณรู้สึกโล่ง และหายใจสะดวกขึ้น แต่น้ำหนักของมดลูกจะไปกดทับที่กระเพาะปัสสาวะแทน ทำให้คุณเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น หมั่นดื่มน้ำบ่อยๆ เพราะน้ำยังจำเป็นต่อการดูดซึมสารอาหารภายในร่างกายของคุณอยู่

Week 39 อาการเจ็บครรภ์เตือนเกิดขึ้น ความรู้สึกจะใกล้เคียงกับการเจ็บครรภ์คลอดจริง การหดรัดตัวไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สบาย คิดถึงลูกของคุณที่จะคลอดออกมา เจ็บท้องคลอดจะเป็นอุปสรรคขี้ปะติ๋วสำหรับคุณ วิตามินบี 1 จะช่วยให้ระบบประสาทของคุณผ่อนคลายขึ้น

Week 40 ได้เวลาสบตาเทวดาของคุณซะที จุกเมือกที่ปากทางเข้ามดลูกลอกตัวออกมา ปากมดลูกเปิดออก ถุงน้ำคร่ำแตกของเหลวและเลือดไหลออกมาการหดรัดตัวของมดลูกแรงขึ้น เป็นจังหวะสม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อยๆ อาหารที่ให้พลังงานทุกชนิดจำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมของคุณคาร์โบไฮเดรต วิตามินบี 1 วิตามินซี และอาหารที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งใดอาหารใจที่ได้กอดเทวดาตัวน้อยของคุณไว้ในอ้อมอก อ้า…ความอ่อนล้าทั้งหมดหายไปเป็นปลิดทิ้ง.

[ ที่มา..นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.162 January 2007]

7 วิตามินสำคัญสำหรับคนท้อง

เมื่อคุณตั้งครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุอย่างเต็มที่ เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพัฒนาการทางสุขภาพของทารกในครรภ์ ดังนั้น คุณจึงต้องรู้ว่าวิตามินเหล่านั้นมีหน้าที่อะไร และให้คุณค่าด้านโภชนาการแก่ส่วนใดของคุณบ้าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญเจ็ดชนิด

1. วิตามิน บี 6 : วิตามินนี้ช่วยในการพัฒนาสมองและระบบประสาทของลูกน้อย ในบางกรณีมันยังช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ด้วย วิตามิน บี 6 หาได้จากกล้วย แตงโม ถั่วเขียว และหน้าอกไก่

2. แคลเซียม : แร่ชาติชนิดนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนากระดูของลูกน้อย และร่างกายของคุณจะต้องการแร่ธาติชนิดนี้เพิ่มขึ้นมากในระหว่างการตั้งครรภ์ การขาดแคลเซียมสามารถทำให้เกิดกระดูพรุนและกระดูกของลูกไม่แข็งแรง แคลเซียมมีอยู่มากในผลิตภัณฑ์นม เช่น นมสด เนย โยเกิร์ต ผักขม เต้าหู้ และบร๊อคโคลี

3. วิตามิน อี : วิตามินชนิดนี้ช่วยในการพัฒนาของกล้ามเนื้อและเซลล์เม็ดเลือดของทารก การขาดวิตามินอีมีผลทำให้ทารกคลอดมาน้ำหนักต่ำ ในขณะที่การได้รับวิตามินนี้มากเกินไปก็เกี่ยวข้องกับการแท้งลูก
เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนที่จะรับประทานวิตามิน อี เสริม วิตามิน อี สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิดเช่น น้ำมันพืช ถั่ว และธัญพืช

4. เหล็ก : แร่ธาตุชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการทางสุขภาพของลูกน้อย เหล็กยังเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการเติบโตของรก เหล้กสามารถพบได้จาก เนื้อสัตว์สีแดง ผัก ข้าว และธัญพืช

5. โปรตีน : โปรตีนเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างเซลล์ร่างกายของลูกน้อย ความต้องการโปรตีนมีเพิ่มมากขึ้นในระหว่างสามเดือนที่สองและสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาหารหลายอย่างอุดมไปด้วยโปรตีนรวมทั้ง เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ เนย และเต้าหู้

6. วิตามิน บี 1 : วิตามินชนิดนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพัฒนาการของระบบประสาทส่วนกลางของลูกน้อย การได้รับวิตามิน บี 1 ไม่เพียงพออาจทำให้ลูกของคุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหน็บชา ซึ่งสามารถเป็นอันตรายต่อหัวใจและปอดของลูกได้ อาหารที่มีวิตามิน บี 1 เช่น อาหารจากข้าวและแป้ง จมูกข้าวสาลี และไข่

7. สังกะสี : แร่ธาตุชนิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ในทารกในครรภ์ เหล็กยังช่วยเสริมการผลิตเอ็นไซม์ เช่น อินซูลิน ในหญิงตั้งครรภ์ เหล็กสามารถพบได้ใน เนื้อสัตว์สีแดง เป็ด ไก่ ถั่ว ข้าว และผลิตภัณฑ์นม

วิตามินและแร่ธาตุเป็นส่วนสำคัญสำหรับโภชนาการของสตรีมีครรภ์ทุกคน หวังว่าบทความนี้คงจะช่วยแนะนำในเรื่องวิตามินที่คุณต้องการ และแหล่งของมันได้ อย่างไรก็ตาม คำแนะนำด้านวิตามินและแร่ธาตุที่คุณต้องการในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากhttp://www.ahlulbait.org

Sunday, April 24, 2011

การดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์

การดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาการแพ้ท้องจะมีมากใน 3 เดือนแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อตื่นนอน จะมีอาการมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจมีอาการมาก รับประทานอาหารไม่ได้ หลังตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มน้ำผลไม้ และรับประทานขนมปังกรอบทันที จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุนจัด เพราะอาจทำให้คลื่นไส้มากขึ้น นอกจากนี้อาจอยากรับประทานอาหารแปลกๆ รสเปรี้ยว ซึ่งสามารถรับประทานได้
อาการปวดหลังพบได้บ่อยเกือบครึ่งหนึ่งของสตรีมีครรภ์ โดยมักปวดที่หลังส่วนล่าง ระหว่างก้นทั้งสองข้าง ร้าวลงไปที่ต้นขา มักเป็นช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ การยืนนานๆ ในท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือยกของหนักเกินไป ทำให้ปวดหลังได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทำให้ข้อกระดูก และเอ็นต่างๆ คลายตัวหลวมมากขึ้น ความแข็งแรงของข้อลดลง จึงทำให้ปวดหลังได้ ควรพยายามนอนพื้นเรียบ ใช้หมอนหนุนหลังเวลานั่ง อย่าก้มหยิบของ ควรใช้วิธีนั่งหยิบแทน และควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย อาจให้สามีช่วยนวดหลังเบาๆ นอกจากจะคลายปวดแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้วย


อาหาร
1.คุณแม่จะรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เมื่ออาการแพ้ท้องหายไป
2.ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้
3.ไม่ควรรับประทานอาหารพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน ไขมันมากเกินไป
4.ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารดิบๆ สุกๆ ของหมักดอง ผงชูรส ชา กาแฟ เหล้า และบุหรี่


การพักผ่อน
1.ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลียง่าย กลางคืนควรนอนหลับให้เต็มอิ่ม ประมาณ 8-10 ชั่วโมง และควรหาเวลานอนพักในตอนบ่ายอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
2.การลดจำนวนการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าหากคุณต้องการจะดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ให้จำกัดเฉพาะในเวลาเช้า หรือตอนบ่ายต้นๆ
3.ควรงดดื่มน้ำ หรืออาหารเหลว หรือรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไปก่อนที่จะเข้านอนสองสามชั่วโมง แต่ขอให้แน่ใจว่าคุณได้รับสารอาหาร และน้ำอย่างเพียงพอตลอดวัน การรับประทานอาหารมื้อเช้า และเที่ยงหนักๆ และรับประทานอาหารเย็นเบาๆ สามารถช่วยได้ และหากมีอาการคลื่นไส้นอนไม่หลับ การรับประทานขนมปังกรอบสองสามแผ่นก่อนเข้านอนอาจช่วยได้
4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมก่อนเข้านอน แต่ให้ทำอะไรที่เบาๆ และผ่อนคลายแทน และหากเป็นตะคริวที่ขาปลุกให้ตื่นนอนในตอนกลางคืน การกดเท้าแรงๆ ลงกับผนังห้องหรือลุกขึ้นยืนอาจช่วยได้
5.ถ้ายังนอนไม่หลับ ให้ลุกขึ้นมาหาอะไรทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หรือหากิจกรรมอื่นๆ ที่เพลิดเพลินทำแทน แล้วในที่สุดก็จะเหนื่อย และนอนหลับได้เอง
6.นอนงีบ 30-60 นาที ระหว่างวัน เพื่อชดเชยเวลานอนที่สูญเสียไป

การออกกำลังกาย
ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดี ร่างกายแข็งแรง เช่น เดินเล่นในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ทำงานบ้านเบาๆ บริหารร่างกายด้วยท่าง่ายๆ
ข้อควรระวัง คือ อย่าออกกำลังกายหักโหมจนร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือกระทบกระเทือนท้อง


การบริหารร่างกายสำหรับคุณแม่ก่อนคลอด
ท่าที่ 1 ยืนตรง มือเท้าเอง เท้าแยกพอประมาณ หลังตรง หาหนังสือเล่มหนาๆ ประมาณ 1-2 เล่ม วางอยู่ระหว่างเท้า ค่อยๆ ย่อขาลงหยิบหนังสือขึ้นจากพื้น แล้วยืนขึ้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 2 นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือซ้ายจับเข่าขวา พยายามบิดตัวไปทางขวาช้าๆ
ท่าที่ 3 นอนหงายชันเข่า ยกสะโพกขึ้นจากพื้นจนตึง ค้างไว้แล้วลดลง ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 4 นั่งคุกเข่าให้มือทั้งสองข้างวางบนพื้น ออกแรงโค้งหลังขึ้นขางบนจนสุดแล้วค้างไว้ ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 5 เอียงคอไปด้านซ้าย และกลับมาตรง เอียงคอไปด้านขวา และกลับมาตรง ก้มคอไปด้านหน้า และกลับมาตรง ทำซ้ำอย่างละ 5 ครั้ง
ท่าที่ 6 ยืนตรง มือทั้งสองข้างแตะไหล่หมุนไหล่เป็นวงกลม ไปข้างหลัง ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 7 ยืนตรงกางแขนทั้งสองข้างออก ก้มตัวไปข้างขวา แตะเข่าด้านข้าง ทำซ้ำข้างละ 5 ครั้ง
ท่าที่ 8 นอนหงาย ชันเข่าแขนตึง มือทั้งสองข้างวางบนต้นขา ออกแรงเกร็งท้องจนมือแตะเข่า ค้างไว้สักครู่ ทำซ้ำ 5 ครั้ง


การรักษาความสะอาดร่างกาย
1. ระยะตั้งครรภ์จะรู้สึกร้อน และเหงื่อออกมาก ควรอาบน้ำให้ร่างกายสะอาดสดชื่น แต่ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย
2. ถ้าผิวแห้งตึงให้ใช้โลชั่นทาหลังอาบน้ำ


การดูแลปาก และฟัน
1. หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย
2. ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร
3. ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกว่าอยากทานอาหารแปลกๆ และส่งผลให้เหงือกอาจจะอักเสบ หรือบวมได้ และอาจรู้สึกขยับปากลำบาก จึงอาจละเลยเรื่องการรักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก จึงส่งผลให้มีคราบสะสมภายในช่องปาก และมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากขึ้น
4. โรคเหงือกอักเสบในระหว่างตั้งครรภ์ หลอดเลือดฝอยในบริเวณเหงือกมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดเลือดคลั่งในเหงือก และเหงือกมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง หรือที่รุนแรงกว่านั้น คือทำให้เกิดเนื้องอกที่เหงือก เหงือกมีสีแดงเข้ม และไม่เจ็บปวด ซึ่งเหงือกมีเลือดคั่งอย่างมาก และเหงือกมีเลือดออกเป็นประจำ แต่เนื้องอกหรืออาการเลือดออกดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของการตั้งครรภ์ ไม่แนะนำให้ตัดเนื้องอกนี้ทิ้ง นอกจากว่าจะเกิดแผลในช่องปากหรือมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร
5. หากมีโรคเกี่ยวกับเยื่อหุ้มฟันอยู่แล้ว อาการอาจรุนแรงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์
ฟันอาจโยกได้มากขึ้น
6. สตรีมีครรภ์บางท่านอาจรู้สึกคลื่นไส้ และอาเจียน ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา และอาจกัดกร่อนฟันได้ ปกติแล้ว ฟันที่ถูกกัดกร่อนจะเป็นซี่ที่ติดกับด้านข้างลิ้น


การดูแลเต้านม
ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขึ้น เพื่อเตรียมสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ควรเปลี่ยนยกทรงให้มีขนาดพอเหมาะใส่สบาย คุณแม่บางคนอาจจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ไม่ต้องกังวลใจ เวลาอาบน้ำให้ล้างเต้านมด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรฟอกสบู่เพราะจะทำให้ผิวแห้งมาก อาจใช้โลชั่นทานวด เมื่อรู้สึกผิวแห้งตึง หรือคัน
ถ้ามีปัญหาหัวนมสั้น หัวนมบอด หรือผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ก่อนที่จะคลอด มิฉะนั้นอาจจะมีอุปสรรคต่อการให้นมลูก

การมีเพศสัมพันธ์
ไม่มีข้อห้ามในผู้ตั้งครรภ์ปกติ แต่ควรงดเว้นใน 1 เดือน สุดท้ายก่อนคลอด
ในรายที่เคยแท้ง ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
ในรายที่มีปัญหาอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลผู้ตรวจครรภ์


น้ำหนักตัวในระหว่างตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำหญิงตั้งครรภ์ว่าควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีน้ำหนักตัวเพิ่มไม่ถึงเกณฑ์กำหนดมักจะพบว่าทารกที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ หรือทารกน้ำหนักน้อย ตัวเล็กผิดปกติ ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก และทำให้เกิดปัญหาต่อการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ทารกตัวโตคลอดลำบาก หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น เส้นเลือดขอดมากขึ้น และทำให้แผลผ่าตัดติดช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย
บางครั้งหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากๆ มิได้หมายความว่าทารกในครรภ์จะตัวโตเสมอไป อาจจะได้ทารกน้ำหนักน้อยก็มี ทั้งนี้เนื่องจากภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ การเพิ่มน้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อการตั้งครรภ์ เป็นน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่ต้องพิจารณาตามรูปร่าง และขนาดตัวของหญิงตั้งครรภ์ เช่น ผู้ที่มีรูปร่างเล็ก และมีขนาดตัวก่อนการตั้งครรภ์น้อยกว่า 5 กิโลกรัม การเพิ่มของน้ำหนักตัวตลอดการตั้งครรภ์ อาจจะน้อยกว่า 10 กิโลกรัมได้ ทั้งนี้น้ำหนักที่เพิ่มจะเป็นน้ำหนักของทารก 3 กิโลกรัม และเป็นน้ำหนักของรก น้ำหล่อเด็ก เนื้อเยื่อที่ยืดขยายของเต้านม มดลูก เป็นต้น อีก 5-6 กิโลกรัม
หญิงตั้งครรภ์ที่ควรจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเป็นกรณีพิเศษ คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเป็นกรณีพิเศษ คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานในขณะก่อนตั้งครรภ์ โดยในระยะไตรมาสแรกควรจะพยายามปรับให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่ามาตรฐาน แล้วใช้เวลาในระยะ 6 เดือนต่อมาเพิ่มน้ำหนักให้ได้เท่าที่ต้องการตลอดการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก่อนการตั้งครรภ์ ต้องระวังดูแลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยเลือกกินอาหารเป็นพิเศษ
ระยะเวลาตลอดการตั้งครรภ์ไม่ใช่เวลาที่จะควบคุมน้ำหนักด้วยการงดอาหารอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะทารกจะได้พลังงานจากการเผาผลาญไขมันของหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่จะไม่ได้สารอาหารใดๆ ทั้งสิ้น หญิงตั้งครรภ์แฝดสอง หรือแฝดสาม มิได้หมายความว่าจะต้องมีน้ำหนักเพิ่มเป็นสอง หรือสามเท่าตามจำนวนทารกในครรภ์ แต่อาจจะเพิ่มน้ำหนักโดยเฉลี่ย 5 กิโลกรัมต่อทารก 1 คน โดยกินอาหารภายใต้การดูแลของแพทย์
อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัว โดยเฉลี่ยน้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มน้อยในช่วงระยะไตรมาสแรกคือประมาณ 1-2 กิโลกรัมเท่านั้น และจะมีน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่สองจนถึงต้นไตรมาสที่สาม คือในอายุครรภ์ 3-8 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มโดยเฉลี่ย 1/2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และในระยะเดือนสุดท้ายน้ำหนักจะคงที่หรือลดลงบ้างเล็กน้อยประมาณ 1/2 กิโลกรัมดังนั้นในไตรมาสที่สามน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 กิโลกรัมเท่านั้น


การดูแลผิวพรรณขณะตั้งครรภ์
เมื่อผู้หญิงเริ่มตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสรีระ และอารมณ์ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนหลายชนิด ผิวพรรณที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมักก่อให้เกิดความกังวลใจไม่น้อย การรับรู้ถึงภาวะปกติ และไม่ปกติที่เกิดขึ้นกับผิวพรรณขณะตั้งครรภ์จะช่วยให้รับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องกังวล
รอยคล้ำ จะสังเกตได้ว่าบริเวณข้อพับของร่างกายมีสีเข้มขึ้นตั้งแต่รักแร้ ขาหนีบ ต้นขาด้านใน รวมถึงหัวนม และอวัยวะเพศ แต่ที่กลัวกันมากที่สุด คือ มีฝ้าขึ้นที่หน้า โดยเฉพาะคนที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ กระที่เป็นอยู่แล้วก็มักสีเข้ม และเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่อย่าเพิ่งกังวล รอยคล้ำต่างๆ เหล่านี้จะค่อยๆ จางลงอย่างช้าๆ ภายหลังคลอด
สิว เนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างตั้งครรภ์ มีผลต่อการทำงานของต่อมไขมันทำให้บางคนเกิดเป็นสิวเห่อขึ้นที่หน้า และตัวได้ แต่กับบางคนก่อนตั้งครรภ์เป็นสิวง่าย พอตั้งครรภ์แล้วสิวหายหน้าผ่องก็มี
รอยแตกลาย เกิดขึ้นจากการยืดตัวของผิวหนังขณะตั้งครรภ์มักพบบริเวณหน้าท้อง สะโพก ก้น หน้าอกต้นขา อาจเป็นสีชมพู ม่วง หรือดำในคนผิวคล้ำ บางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วยหลังคลอดอาจจางลงได้เล็กน้อย
ติ่งเนื้อสีน้ำตาลดำ มักเกิดขึ้นที่คอ รักแร้
การติดเชื้อรา ที่ผิวหนังบริเวณที่มีการอับชื้น เนื่องจากคนท้องมักขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย จึงเกิดจุดอับชื้นบริเวณซอกพับที่สรีระมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ใต้ราวนมรักแร้ขาหนีบเป็นสาเหตุของการติดเชื้อราแคนดิดาได้ง่าย
โรคผื่นคันในคนท้อง มีลักษณะเป็นผื่นลมพิษตุ่มแดง คัน ที่ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหารหรือสารเคมีมักเป็นเมื่อครรภ์แก่ในช่วงสามเดือนก่อนคลอด ผื่นคันนี้อาจลามกระจายทั้งตัวได้ แต่หลังคลอดผื่นก็จะค่อยๆ จางหายไป



ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากhttp://www.bangkokhealth.com

Saturday, April 23, 2011

ตกขาวกับการรักษา

ภาวะตกขาว
ภาวะตกขาว ซึ่งบางทีเรียกว่า มุตกิด หรือระดูขาวนั้น เป็นภาวะหนึ่งที่สตรีส่วนมากต้องประสบและทำให้สตรีจำนวนไม่น้อยมาพบแพทย์ และสูตินรีแพทย์ ภาวะดังกล่าวอาจเป็นอาการที่แสดงออกมาจากตอบสนองต่อฮอร์โมนในสตรีที่ปกติ หรือจากการที่เป็นโรคที่ไม่รุนแรงเรื่อยไปจนกระทั่งถึงโรคที่รุนแรงก็ได้ ดังนั้นภาวะนี้จึงมีความสำคัญมิใช่น้อย

ตกขาว คืออะไร
ตกขาว เป็นของเหลวใด ๆ ที่ไหลออกมานอกช่องคลอด แต่ไม่ใช่เลือด ของเหลวดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากช่องคลอด ปากมดลูก และอวัยวะข้างเคียงบริเวณปากช่องคลอด ลักษณะของตกขาว จะมีความแตกต่างกันไปขึ้นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทั้งในขณะที่อยู่ในภาวะปกติ หรือกำลังเป็นโรคอยู่

ภาวะตกขาวที่ปกติเป็นอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตามปกติแล้วในสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (อีกนัยหนึ่ง คือ สตรีที่อยู่ในช่วงอายุที่ยังมีประจำเดือน หรือมีฮอร์โมนเพศหญิงเจริญเต็มที่) จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแตกต่างกันไปตามระยะของประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีผลต่อการลักษณะของเหลวที่สร้างขึ้นมาจากอวัยวะต่าง ๆ ในระบบสืบพันธุ์สตรี ดังเช่น ในช่วงกึ่งกลางรอบประจำเดือนหรือระยะใกล้เคียงกับการตกไข่ ซึ่งเป็นเวลาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ทำให้ในช่วงเวลานี้ จะมีตกขาวลักษณะค่อนข้างเหลวใส ๆ ปริมาณมากกว่าระยะเวลาอื่น ส่วนตกขาวในระยะเวลาอื่นจะมีสีขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก นอกจากนั้นแล้ว ตกขาวที่ปกติควรจะไม่คัน และไม่มีกลิ่น ถ้าตกขาวของท่านมีลักษณะดังที่กล่าวมานี้ถือว่าปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม สตรีแต่ละท่านจะมีปริมาณตกขาวแตกต่างกันไป บางท่านอาจมีปริมาณตกขาวมากจนเปื้อนชุดชั้นในอยู่หลายวันในแต่ละเดือน แต่สำหรับบางท่านอาจมีปริมาณน้อยจนไม่รู้ว่ามีตกขาวเลยนอกจากนี้ ฮอร์โมนในสตรีในวัยดังกล่าว ทำให้เซลล์ในช่องคลอดสมบูรณ์ และมีการสร้างสารประเภทแป้งที่เรียกว่าไกลโคเจน ซึ่งจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยแบคทีเรียชนิดหนึ่งให้เป็นกรดอ่อน ๆ ภาวะนี้จะช่วยป้องกันการรุกรานจากเชื้อโรคชนิดอื่นที่ก่อให้เกิดความผิดปกติได้

ภาวะตกขาวที่ผิดปกติเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร

ตกขาวผิดปกติจะมีลักษณะที่ต่างออกไปจากที่กล่าวมาข้างต้น จะมีสาเหตุใหญ่อยู่ 2 ประเภท คือ สาเหตุจากการติดเชื้อ และสาเหตุจากการไม่ติดเชื้อ
1.ตกขาวที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อตกขาวจากสาเหตุนี้ เกิดได้จากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา และพยาธิในช่องคลอด ตกขาวประเภทนี้ บางชนิดจะมีลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ดังจะกล่าวต่อไป
ตกขาวที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสบางชนิดเป็นเชื้อโรคที่ติดต่อมาโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ บางครั้งอาจไม่มีอาการชัดเจน ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ได้แก่ โรคเริมซึ่งเป็นโรคที่ไม่หายขาด จะมีอาการเป็นตุ่มใส ๆ ขนาดเล็ก ต่อมาจะแตกเป็นแผลแสบ มีตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นผิดปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ปรากฏอาการ
ตกขาวที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ตกขาวประเภทนี้มักมีสีเหลือง หรือค่อนข้างเขียว อาจมีอาการคันในบางราย เชื้อบางชนิดอาจเกิดตกขาวมีกลิ่นคาวปลาหลังการร่วมเพศ แต่ในกรณีที่มีการติดเชื้อจากโรคหนองในจะมีตกขาวสีเหลืองจัด อาจร่วมกับมีอาการปัสสาวะแสบขัดได้
ตกขาวมีสาเหตุจากเชื้อราเชื้อรา ในช่องคลอดมักทำให้เกิดอาการตกขาวสีขาว มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ คล้ายนมที่ทารกแหวะออกมา และมีอาการคันช่องคลอด การตกขาวชนิดนี้มักไม่ได้เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ น้ำยาสวนล้างช่องคลอดที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิต้านทาน
ตกขาวที่มีสาเหตุจากเชื้อพยาธิในช่องคลอด พยาธิชนิดนี้เป็นโรคติดต่อเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มักมีสีเหลือง อาจเห็นเป็นฟอง มีอาการคันช่องคลอด และอาจมีกลิ่นออกเปรี้ยวเล็กน้อย
2.ตกขาวที่มีสาเหตุจากการไม่ติดเชื้อตกขาวผิดปกติประเภทนี้ มีสาเหตุได้จาก การระคายเคืองหรือแพ้สารเคมี จากมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี (เช่น มะเร็งของปากมดลูก ช่องคลอด ท่อนำไข่) รวมทั้งเกิจากการมีสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด

ท่านจะทำอย่างไรในกรณีที่เกิดปัญหาตกขาว
ท่านที่ประสบปัญหาตกขาวที่มีลักษณะปกติดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ท่านก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างไร เพียงแต่ควรมาพบสูตินรีแพทย์ของท่าน เพื่อตรวจภายในพร้อมทั้งตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปีแต่ถ้าหากว่าท่านมีอาการตกขาวที่มีลักษณะผิดปกติ กล่าวคือ มีสี กลิ่นผิดไปจากปกติหรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย ก็ควรจะได้รับการตรวจและรักษาให้ถูกต้องตามสาเหตุ ทั้งนี้เนื่องมาจากการรักษาที่ตรงตามสาเหตุจะทำให้โรคหายเร็วขึ้น เช่น ในกรณีที่ตกขาวจากเชื้อรา แพทย์อาจจะให้ยาเหน็บรักษาด้วย โคลไทรมาโซล หรือถ้าเป็นจากเชื้อพยาธิในช่องคลอด ก็อาจจะต้องใช้ยารับประทาน เมโทรนิดาโซล เป็นต้น ประการที่สองสาเหตุของตกขาวที่ปิดปกติบางครั้งอาจเกิดจากมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีได้ โรคดังกล่าวนี้ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ส่วนประการสุดท้ายคือ ถ้าอาการตกขาวของท่านมีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ท่านควรจะได้รับการตรวจหาพร้อมกับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นที่อาจเกิดร่วมด้วย รวมทั้งต้องมีการตรวจรักษาคู่สมรสด้วย จึงจะไม่ทำให้ท่านและคู่สมรสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดโรคขึ้นซ้ำอีกในภายหลัง

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากhttp://www.vibhavadi.com

โฟเลตคืออะไร & โฟเลตกับหญิงตั้งครรภ์

โฟเลตคืออะไร

"โฟเลต" หรือ "กรดโฟลิก" เป็นสารอาหารที่ละลายในน้ำ จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบี ชื่อนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า "โฟเลี่ยม" ซึ่งหมายถึง "ใบไม้" เพราะสารอาหารชนิดนี้ สามารถพบได้ทั่วไปในพืชผักชนิดต่าง ๆ

ประโยชน์
1.โฟเลตกับความพิการทางสมองของทารกงานวิจัยที่เห็นประโยชน์ของโฟเลตอย่างชัดเจน คือ งานวิจัยเรื่องโฟเลต กับความพิการของทารกแรกคลอด ทารกที่เกิดจากแม่ที่ขาดสารโฟเลตในขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้พิการทางสมอง และประสาทสูงมาก ซึ่งเราเรียกลักษณะ อาการดังกล่าวว่า "Neural Tube Defects"
การขาดโฟเลตในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้แกนกลางประสาทของทารกในครรภ์เกิดความพิการได้ เพราะโฟเลตมีความจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การขาดโฟเลตในช่วงสามเดือนสุดท้าย อาจส่งผลให้การเจริญของสมองและประสาทไขสันหลังผิดปกติ และจากการศึกษาค้นคว้าจากประเทศแถบยุโรป รวมทั้งแคนาดาและอิสราเอลพบว่าอาการดังกล่าวนี้ จะลดน้อยลงถึงร้อยละ 70 ถ้าแม่ได้รับโฟเลตอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน
2. โฟเลตกับโรคหัวใจโรคหัวใจในที่นี้หมายรวมถึง อาการความผิดปกติต่าง ๆ ของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งการตีบตันของหลอดเลือด จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวาย รวมทั้งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ปัจจุบันโรคหัวใจเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกา และมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนักวิจัยได้ให้ความเห็นถึงสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจไว้ว่า นอกจากการเพิ่มขึ้นของ LDL ในร่างกาย ความดันโลหิตสูง
ปริมาณ HDL ในร่างกายต่ำ เบาหวาน และโรคอ้วนแล้ว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิจัยค้นพบว่าปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคหัวใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของ Homocysteine ในร่างกาย ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่พบในกระแสเลือด และระดับการเพิ่มขึ้นจะมีผลต่อการเป็นโรคหัวใจ และเส้นเลือดในสมองอุดตัน เพราะกรดชนิดนี้ จะทำให้เกล็ดเลือดก่อตัวเป็นลิ่มได้ง่ายขึ้น จึงสามารถรวมกันเป็นก้อน เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และนำไปสู่อาการหัวใจวายได้ในที่สุด การที่ร่างกายมีโฟลิก วิตามินบี 6 และบี 12 อย่างเพียงพอจะช่วยลดระดับของ Homocysteine ในร่างกายได้
3. โฟเลตกับโรคมะเร็งหลักฐานการวิจัยบางอย่างระบุว่าผู้ ที่มีระดับโฟเลตในร่างกายต่ำ มีอัตราความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคมะเร็งสูง เนื่องจากโฟเลตมีส่วนสำคัญในการสร้าง ซ่อมแซม และการทำงานของ DNA การขาดโฟเลตอาจเป็นการทำลาย DNA และนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ในที่สุด จากการศึกษาหลายครั้งปรากฏว่า การรับประทานแต่อาหารที่มีโฟเลตต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการระบุแน่ชัดว่าการขาดโฟเลต เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็ง และการศึกษาค้นคว้า ถึงผลกระทบของการรับประทานอาหารที่มีโฟเลต กับการรับประทานกรดโฟลิกในรูปวิตามินสำเร็จรูปเพื่อลดความเสี่ยง ในการเป็นมะเร็งก็ยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้รับประทาน กรดโฟลิกสำเร็จรูปเพื่อป้องกันมะเร็ง จนกว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างแน่ชัด

แหล่งโฟเลตที่สำคัญ คือ ผักใบเขียวทุกชนิดและผลไม้ เช่น คะน้า ตำลึง ดอกกุยช่าย ผักชี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ส้ม กล้วยน้ำว้า มะขามเทศ ถั่วเมล็ดแห้ง แป้งถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน มะเขือเทศ นอกจากนี้ยังพบโฟเลตในตับสัตว์อีกด้วย เนื่องจากโฟเลตละลายได้ดีในน้ำมัน จึงอาจสูญหายไป ในระหว่างการปรุงและล้างอาหาร จึงควรเลือกวิธีประกอบอาหารที่ใช้น้ำน้อย ๆ เช่น ต้มหรือลวกผักในน้ำน้อย ๆ และกินน้ำต้มผักด้วย ผักนึ่งจะมีโฟเลตเหลือมากกว่าผักต้ม แต่เมล็ดถั่วต้มจะยังคงปริมาณโฟเลตไว้ได้มาก




ปริมาณที่ควรได้รับ
ร่างกายต้องการโฟเลตมากน้อยเพียงใดจึงจะป้องกันโรคได้ หน่วยงานสาธารณสุขที่เรียกว่า The US Public Health Service แนะนำว่าทั้งชายและหญิงควรกินสารอาหารชนิดนี้ให้ได้วันละ 400 ไมโครกรัม ซึ่งขนาดเพียงแค่นี้มีเพียงพออยู่แล้วในอาหารประจำวัน หากกินหลากหลายครบหมู่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหลายยี่ห้อ ยังเสริมโฟเลต ลองสังเกตฉลาก ดังนั้นคนทั่วไปจึงไม่จำเป็นต้องเสริมโฟเลต ยกเว้นคนบางคนที่กินอาหารไม่ครบหมู่ อาจต้องเสริมโฟเลตและวิตามิน เกลือแร่ พร้อมกับปรับสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร
แต่สำหรับหญิงมีครรภ์ การเสริมโฟเลต เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันทารกพิการ แพทย์จะพิจารณาจ่ายในรูปวิตามินรวม หรือวิตามินบีรวมเมื่อไปฝากครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรังที่กินอาหารได้น้อย ก็อาจจำเป็นต้องเสริมโฟเลตเช่นเดียวกัน



ข้อควรระวัง
สำหรับผู้ที่รับประทานกรดโฟลิกที่อยู่ในรูปวิตามินเสริม ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 1,000 ไมโครกรัม เนื่องจากการรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณที่สูง จะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดแคลนวิตามินบี 12 ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะถึงแม้ว่ากรดโฟลิก จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องโรคโลหิตจาง ได้โดยไม่ต้องมีวิตามินบี 12 มาช่วยแต่กรดโฟลิกไม่สามารถรักษาอาการ ด้านระบบประสาทได้หากขาดวิตามินบี 12 และอาการนี้จะเป็นอย่างถาวร หากไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องการขาดวิตามินบีชนิดดังกล่าวอย่างทันท่วงที
สำหรับผู้สูงอายุ การรับประทานโฟลิก เสริมเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างมากเนื่องจาก มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดวิตามินบี 12 หากได้รับกรดโฟลิกในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องรับประทานกรดโฟลิกเสริม ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จึงควรขอให้แพทย์ ตรวจวัดระดับวิตามินบีในร่างกายให้ด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่ต้องรับประทานวิตามิน เสริมที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิก ควรอ่านฉลากกำกับยาให้ชัดเจนว่ามีวิตามินบี 12 รวมอยู่ด้วยหรือไม่ หากไม่มีควรขอวิตามินชนิดนี้ มารับประมานร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์




ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากhttp://www.thaipaipan.com/




โฟเลตกับหญิงตั้งครรภ์


กรดโฟลิก (โฟเลต) คือวิตามินอยู่ในกลุ่มวิตามินบี (วิตามินละลายน้ำ) ทุกคนควรได้รับวิตามินนี้จากอาหาร อาหารต่างๆ จะมีโฟเลตแทบทุกชนิด บางชนิดก็มีมาก บางชนิดก็มีน้อย เช่น
ตับไก่ ๑ ขีด (๑๐๐ กรัม) มีโฟเลต ๖๓๗ ไมโครกรัม
ตับหมู ๑ ขีด มีโฟเลต ๑๑๒ ไมโครกรัม
ไข่ไก่ ๒ ฟอง มีโฟเลต ๓๖.๙ ไมโครกรัม
กุ้ง หอย ปู ปลา ให้โฟเลต ๗.๕-๒๔ ไมโครกรัม/๑๐๐ กรัม
ดอกกุยช่าย ๑ ขีด ให้โฟเลต ๒๘๓ ไมโครกรัม
ผักกาดหอม ๑๐๕ ไมโครกรัม/๑๐๐ กรัม
ส้ม ๑๒.๒ ไมโครรกรัม/๑๐๐ กรัม
กล้วยน้ำว้า ๓๒.๘ ไมโครกรัม/๑๐๐ กรัม
มะขามเทศ ๕๒.๒ ไมโครกรัม/๑๐๐ กรัม
ข้าวโพดดิบ ๙๔.๒ ไมโครกรัม/๑๐๐ กรัม
ขนมปัง ๑๒.๒ ไมโครกรัม/๑๐๐ กรัม
โฟเลตจะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้น ถ้าอาหารใดต้องหั่นชิ้นเล็กๆ หุงต้มนานๆ โฟเลตก็จะสูญเสียไป ดังนั้น เพื่อให้ได้โฟเลต หากอาหารใดกินสดได้ก็ควรกินสด เช่น ผัก ผลไม้ เพราะจะได้โฟเลตมาก แต่ถ้าต้องทำให้สุกก็ไม่ควรใช้เวลานานในการหุงต้ม ร่างกายของคนเราต้องการโฟเลตเพื่อช่วยในกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งเป็นยีนหรือสารพันธุกรรม และสังเคราะห์กรดอะมิโนอีกหลายตัว รวมทั้งมีความจำเป็นในการแบ่งตัวเซลล์ และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่างๆ
หญิงมีครรภ์ควรได้รับมากกว่าคนปกติ คนปกติควรได้รับวันละ ๔๐๐ ไมโครกรัม/วัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ ๖๐๐ ไมโครกรัม/วัน การดื่มนมเสริมโฟเลต (กรดโฟลิก) นั้น ไม่จำเป็นหากสามารถกินอาหารที่มีโฟเลตเพียงพอ๓. การดื่มนนในแต่ละวันควรดื่มวันละ ๒ แก้ว (ไม่จำเป็นต้องดื่มเป็นลิตร) หากกินอาหารที่มีโฟเลตเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องดื่มนมเสริมโฟเลต
กรดโฟลิกถ้าได้รับปริมาณมากจะเป็นอันตรายกับร่างกาย เพราะฉะนั้น ถ้ากินมากเกินไปก็จะไม่ถูกดูดซึมผ่านลำไส้ไปใช้ แต่จะขับถ่ายทิ้งทางอุจจาระ หรือถ้าส่วนที่ถูกดูดซึมไปมากก็จะถูกทำลายและถ่ายทิ้งทางปัสสาวะ
สำหรับแม่และลูกถ้าขาดกรดโฟลิก ก็จะเป็นอันตรายคือแม่จะเป็นโรคโลหิตจาง ถ้ากำลังตั้งครรภ์ขาดกรดโฟลิก ลูกเกิดมาจะผิดปกติของเส้นประสาท (หลอดประสาทไม่ปิด) ถ้ากินอาหารได้ตามปกติ ควรกินให้หลากหลายและมากพอจะไม่ขาดวิตามินโฟเลตนี้


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากhttp://www.doctor.or.th

เลือกเพศบุตร ด้วยวิธีธรรมชาติ

การกำหนดเพศของทารกนั้น โอกาสเกิดเพศชาย หรือเพศหญิงจะเกิดจากฝ่ายชาย เนื่องจากในน้ำอสุจิของผู้ชายจะมีตัวสเปอร์ม (Sperm) อยู่ 2 ชนิด ในการกำหนดเพศ
สเปอร์มตัวผู้ (Sperm-y) มีขนาดตัวเล็ก หัวกลมเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว จะตายเมื่อในช่องคลอดมีสภาวะเป็นกรด แต่จะเคลื่อนไหวได้เร็ว เมื่อมีสภาพเป็นด่าง
สเปอร์มตัวเมีย (Sperm-x) มีขนาดตัวอ้วนใหญ่ หัวเป็นรูปไข่ เคลื่อนไหวได้ช้าแต่จะทนต่อสภาวะเป็นกรดในช่องคลอด
โดยปกติในการมีเพศสัมพันธ์ ฝ่ายชายจะหลั่งน้ำอสุจิซึ่งมีตัวสเปอร์มทั้ง 2 ชนิดรวมกันประมาณ 200-400 ล้านตัว ถ้าสเปอร์มตัวใดสามารถวิ่งไปถึงไข่ที่ปล่อยออกจากรังไข่ก่อนก็จะกำหนดเพศทารกที่จะเกิดขึ้นได้ การที่จะทำให้สเปอร์มตัวผู้(Y) หรือสเปอร์มตัวเมีย (X) วิ่งไปถึงไข่นั้นจะขึ้นอยู่กับสภาวะสิ่งแวดล้อม และจังหวะโอกาสในช่วงของการมีเพศสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้สามารถกำหนดเพศทารกในครรภ์ได้มากกว่า 80%


ข้อควรปฏิบัติเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ทารกตามเพศที่คุณต้องการ

ทารกเพศชาย
1.ทำสภาวะช่องคลอดให้เป็นด่าง โดยสวนล้างช่องคลอดด้วยโซดาไบคาร์บอเนต(ผงสำหรับทำขนม หรือ Baking Soda) 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 ลิตร ควรผสมทิ้งไว้ 15 นาทีก่อนใช้
2.ก่อนหน้าควร งด การมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งนานยิ่งดี หรือ 1 สัปดาห์เพื่อให้สเปอร์มตัวผู้มีปริมาณมาก
ขณะหลั่งฝ่ายชายควรสอดใส่อวัยวะให้อยู่ลึกที่สุด
3.ฝ่ายหญิงถ้ามีความรู้สึกทางเพศถึงจุดสุดยอดจะยิ่งดีขึ้น เพราะสภาวะด่างบริเวณมดลูกจะได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สเปอร์มตัวผู้วิ่งเร็ว
4.ควรมีเพศสัมพันธ์หลังจากวันที่ LH สูงสุด (วันไข่ตก) แล้วประมาณ 12- 24 ชั่วโมง เพื่อให้ไข่เดินทางมาใกล้ที่สุด

ทารกเพศหญิง
1.ทำสภาวะช่องคลอดให้เป็นกรด โดยสวนล้างช่องคลอดโดยใช้น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 ลิตร
ไม่มีความจำเป็นต้องงดการมีเพศสัมพันธ์
2.ขณะหลั่งไม่ควรสอดอวัยวะเพศให้ลึกเกินไป
3.ฝ่ายหญิงไม่ควรมีความรู้สึกถึงจุดสุดยอด เพื่อไม่ให้น้ำเมือกซึ่งมีสภาวะเป็นด่างถูกขับออกมา
4.ควรมีเพศสัมพันธ์ 1-2 วันก่อนไข่ตก (ก่อนตรวจพบ LH ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่ตรวจเป็นประจำทุกเดือน จะสามารถคำนวณได้ใกล้เคียงกว่า คือ ตรวจบ่อยจนคาดได้ว่าปกติไข่จะตกวันที่เท่าไหร่)


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากhttp://www.weneedbaby.com/

Friday, April 22, 2011

การนับวันไข่ตก

การนับวันไข่ตก


ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ที่คงมีคำถามเช่นนี้อยู่ในใจ คุณจะทราบได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ไข่จะตก ต้องมีเพศสัมพันธ์กันช่วงไหน จึงจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงสุด แต่ก่อนจะเริ่มนับวันไข่ตก ลองมาทำความเข้าใจกับประจำเดือนกันก่อนค่ะประจำเดือน เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยปกติรอบเดือนจะมาทุก 28 ± 7 วัน นั่นคือบางคนอาจมีรอบเดือนสั้นทุก 21 วันหรือรอบเดือนยาวสุด 35 วัน ระยะเวลาหลังจากไข่ตกจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนจะค่อนข้างคงที่ที่ 14 ± 2 วัน ดังนั้นรอบเดือนยาวหรือสั้นจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำให้ไข่เจริญเติบโตพร้อมปฏิสนธิ คุณควรจดวันแรกที่มีประจำเดือนไว้ทุกครั้ง เพื่อเก็บเป็นข้อมูลในการคาดคะเนวันไข่ตก วันที่ควรมีเพศสัมพันธ์ หรือช่วยในการคุมกำเนิดได้หากไม่ต้องการมีบุตร

ประจำเดือน ถูกควบคุมโดยฮอร์โมน FSH ( Follicle Stimulating Hormone ) และ LH ( Luteinising Hormone ) ซึ่งหลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ในช่วงแรกๆของการมีประจำเดือน FSH จะหลั่งออกมามาก เพื่อกระตุ้นให้ไข่ และถุงไข่ ( Follicle ) มีการเจริญเติบโต ครั้งแรกๆจะมีไข่โตขึ้นมาหลายฟอง แต่จะมีไข่เพียง 1 ฟองเท่านั้นที่ถูกคัดเลือกให้มีการเจริญเติบโตต่อไป ส่วนฟองที่เหลือจะฝ่อไม่มีการเจริญต่อ ในขณะที่ไข่เจริญเติบโต ถุงไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ( Estrogen ) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเยื่อบุผนังโพรงมดลูก ช่วงกลางรอบเดือนใกล้ไข่ตก ต่อมใต้สมองจะหลั่ง LH ออกมาเป็นจำนวนมาก มีหน้าที่ช่วยให้ไข่เจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะปฏิสนธิ ถุงไข่แตกออก ไข่หลุดออกมาจากถุงไข่ ซึ่งเรียกว่า “ ตกไข่ “ นั่นเอง ไข่จะถูกจับเข้าไปในท่อนำไข่ และถุงไข่ที่ยังคงเหลืออยู่เรียกว่า คอร์ปัสลูเตียม ( Corpus luteum ) จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ( Progesterone ) เพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนไข่ที่ตกมาจะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ หากมีเชื้ออสุจิเข้าไปพบ จะเกิดการปฏิสนธิและแบ่งตัวเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะเดินทางมายังโพรงมดลูกที่เตรียมไว้แล้ว และฝังตัวเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ใช้เวลาเดินทางเข้าโพรงมดลูก 3 วัน ใช้เวลาฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกอีก 3 วัน คอร์ปัสลูเตียมจะทำงานต่อไป แต่หากไม่เกิดการปฏิสนธิ คอร์ปัสลูเตียมจะหยุดสร้างฮอร์โมน เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกหลุดออกมาพร้อมเลือดเป็นประจำเดือน

การนับรอบเดือน จะนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนรอบถัดไป ในผู้หญิงที่มีรอบระดูสม่ำเสมอจึงสามารถคำนวณวันตกไข่ได้ โดยจดวันแรกที่มีประจำเดือน แล้วนับย้อนหลังไปอีก 14 วัน นั่นคือวันที่ไข่ตกในรอบเดือนนั้น หรือง่ายๆก็คือ เกิดการตกไข่ 14 วันก่อนที่จะมีประจำเดือน เช่น รอบเดือน 28 วัน จะตกไข่วันที่ 14 ของรอบเดือน, รอบเดือน 30 วัน จะตกไข่วันที่ 16 ของรอบเดือน คนที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอมักจะมีปัญหาเรื่องการตกไข่ปัจจุบันมีชุดทดสอบการตกไข่ โดยตรวจวัดระดับ LH จากปัสสาวะ ในช่วงใกล้ไข่ตก LH จะเพิ่มมากขึ้น และสูงสุดในวันที่ไข่ตก ( LH surge ) จะเกิดแถบสีขึ้นจางๆ แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าใกล้จะตกไข่ ขอแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งขึ้นในช่วงนี้ และแถบสีจะจางลงอีกครั้งหลังจากตกไข่ไปแล้ว ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ อาจทำเองดูก่อน ถ้ายังไม่ตั้งครรภ์หรือตรวจไม่พบว่ามีแถบขึ้นแบบไข่ตก ก็ต้องใช้วิธีตรวจเลือดแทน ซึ่งจะให้ความแม่นยำและละเอียดกว่าการตรวจปัสสาวะ

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากhttp://www.vibhavadi.com/

การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

การวางแผนเพื่อเตรียมตัวที่จะให้กำเนิดลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่คู่สมรสสามารถทำได้ นอกจากจะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์แล้ว คุณยังสามารถมีโอกาสได้ลูกน้อยซึ่งสมบูรณ์ และเป็นปรกติที่สุดอีกด้วย โดยคุณทั้งคู่ควรวางแผนอย่างน้อย 3 เดือนล่วงหน้าก่อนเริ่มตั้งครรภ์ คุณควรรักษาสุขภาพและกินอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ เพื่อเตรียม พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ หากมีข้อใดที่คุณรู้สึกวิตกกังวล คุณควร ปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป ข้อคิดในการเตรียมตัวเพื่อตั้งครรภ์

1) โรคประจำตัว หากคุณมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคลมชัก, โรคหืด, โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนมีครรภ์เสมอ เพราะอาจต้องเปลี่ยนยาซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ หรืออาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะถ้าได้แพทย์ดูแลคุณอย่างใกล้ชิด ก็มีโอกาสที่จะมีลูกที่สมบูรณ์ได้

2) หัดเยอรมัน (Rubella)หากคุณไม่เคยมีภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมันและติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะภายในที่ซับซ้อน จะทำให้ลูกมีโอกาสเกิดความพิการได้ เช่นหูหนวก, ตาบอด, สมองเล็ก, หัวใจรั่ว หากเป็นไปได้ควรให้แพทย์ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันก่อนการตั้งครรภ์เสมอ ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน แพทย์จะฉีดวัคซีนให้และคุณควรคุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีนนี้อย่างน้อย 3 เดือน (ถ้าคุณตั้งครรภ์แล้ว ห้ามฉีดวัคซีนนี้ตลอดระยะการตั้งครรภ์)

3) โรคทางกรรมพันธุ์ ตามประวัติของครอบครัวคุณทั้งสองฝ่ายมีโรคกรรมพันธุ์หรือไม่ เพราะโรคบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น ฮีโมฟีเลีย (Haemophilia) คือโรคที่เลือดไหลไม่หยุด เกิดจากการขาดสารที่ช่วยในการสร้างลิ่มเลือดในตับ ดังนั้น หากมีบาดแผลเกิดขึ้นที่ใดก็ตามเลือดจะออกไม่หยุด หรือโรคทาลัสซีเมีย (Thalassemia) คือโรคโลหิตจาง หรือโรคซีด ในประเทศไทยมีคนเป็นโรคนี้มากโดยเฉพาะแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ลูกคุณก็มีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ได้ ฉะนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ และอาจต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงใด

4) การใช้ยาหากรู้สึกว่าอาจจะตั้งครรภ์ควรงดใช้ยาทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเพราะมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาที่ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทางที่ดี ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาก่อนการตั้งครรภ์

5) เคยใช้หรือกำลังใช้ยาคุมกำเนิดคุณควรหยุดใช้ยาคุมกำเนิดทันทีและให้เวลาธรรมชาติของร่างกายคุณกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยควรรอให้มีประจำเดือนอย่างน้อย 3 ครั้งก่อนการตั้งครรภ์ โดยให้สามีคุณใช้ถุงยางอนามัยระหว่างนั้น

6) รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ หากคิดจะตั้งครรภ์ คุณควรหัดรับประทานอาหารให้ครบส่วน และกินผักสด, ผลไม้สดให้ติดเป็นนิสัย เพื่อจะได้มีโอกาสตั้งครรภ์ และมีบุตรที่แข็งแรง สุขภาพดี

7) ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายสดชื่น แข็งแรง เช่น เดินออกกำลังกาย, ว่ายน้ำ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายไม่ค่อยปวดหลัง ปวดเอว ขณะตั้งครรภ์ด้วย

8) เหล้า, บุหรี่ ถ้าคุณคิดที่จะตั้งครรภ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลิกดื่มเหล้าและงดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ความสามารถในการมีลูกลดลงทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพราะแอลกอฮอล์มีพิษทำลายคุณภาพของอสุจิและไข่ รวมทั้งทำลายเซลล์สมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์และมีโอกาสทำให้เกิดการแท้งบุตร ส่วนบุหรี่จะทำให้มีโอกาสคลอดทารกก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตระหว่างคลอด หากไม่เสียชีวิต ทารกมักมีน้ำหนักตัวน้อย คุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่แต่สูดดมควันบุหรี่จากคุณพ่อหรือผู้อื่นเป็นประจำ ก็มีผลเช่นเดียวกัน ฉะนั้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรงดสูบบุหรี่แล้ว คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่จากผู้อื่นอีกด้วย

9) น้ำหนักตัวถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อคิดตามส่วนสูงเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ถ้าน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป ควรพบแพทย์เพื่อควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรลดความอ้วน เพราะจะทำให้ทารกขาดสารอาหารที่จำเป็น

10) อายุอายุที่เหมาะสมจะมีบุตรของผู้หญิงเราคือ อายุ 20 - 30 ปี แต่ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานช้าลงและมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น หากคิดจะมีลูกเมื่ออายุเกิน 35 ปี ควรปรึกษาแพทย์ เพราะยิ่งมีลูกตอนอายุมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีลูกยากหรือมีลูกไม่สมบูรณ์ก็สูงขึ้นเท่านั้น

11) เวลาหากคุณทั้งคู่ทำงานหนัก แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน หรือแม้กระทั่งเวลาส่วนตัว คงต้องคิดทบทวนดูให้ดีก่อนจะมีลูก เพราะเด็กๆ ต้องการความรัก, ต้องการเวลา และความอบอุ่นจากพ่อแม่ เพื่อคอยดูแลเอาใจใส่เค้าตั้งแต่เป็นทารกแรกเกิดจนเติบโต เวลาสำหรับสังสรรค์กับเพื่อน, เข้าสังคม เที่ยวเตร่เฮฮา หรือแม้แต่เวลาส่วนตัวจะลดน้อยลงเต็มทีเมื่อคุณมีลูก

12) การเงินคุณควรคำนึงถึงความสามารถในการหารายได้ และขนาดของครอบครัวที่คุณต้องการว่าเหมาะสมกันแค่ไหน เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก เรื่องอาหารการกินอยู่ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ จิปาถะฯ ปรกติจะตกประมาณ 15 - 25% ของรายได้ครอบครัว หากคิดจะมีลูกก็ควรวางแผนในการเก็บเงิน และการใช้จ่ายเงินทองให้ดี เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดภาวะการเงินฝืดเคืองจนมีหนี้สินจำนวนมาก เป็นการนำความเครียดมาสู่ครอบครัวโดยใช่เหตุ


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก
http://www.sudrak.com