Friday, April 22, 2011

การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

การวางแผนเพื่อเตรียมตัวที่จะให้กำเนิดลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่คู่สมรสสามารถทำได้ นอกจากจะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์แล้ว คุณยังสามารถมีโอกาสได้ลูกน้อยซึ่งสมบูรณ์ และเป็นปรกติที่สุดอีกด้วย โดยคุณทั้งคู่ควรวางแผนอย่างน้อย 3 เดือนล่วงหน้าก่อนเริ่มตั้งครรภ์ คุณควรรักษาสุขภาพและกินอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ เพื่อเตรียม พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ หากมีข้อใดที่คุณรู้สึกวิตกกังวล คุณควร ปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป ข้อคิดในการเตรียมตัวเพื่อตั้งครรภ์

1) โรคประจำตัว หากคุณมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคลมชัก, โรคหืด, โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนมีครรภ์เสมอ เพราะอาจต้องเปลี่ยนยาซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ หรืออาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะถ้าได้แพทย์ดูแลคุณอย่างใกล้ชิด ก็มีโอกาสที่จะมีลูกที่สมบูรณ์ได้

2) หัดเยอรมัน (Rubella)หากคุณไม่เคยมีภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมันและติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะภายในที่ซับซ้อน จะทำให้ลูกมีโอกาสเกิดความพิการได้ เช่นหูหนวก, ตาบอด, สมองเล็ก, หัวใจรั่ว หากเป็นไปได้ควรให้แพทย์ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันก่อนการตั้งครรภ์เสมอ ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน แพทย์จะฉีดวัคซีนให้และคุณควรคุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีนนี้อย่างน้อย 3 เดือน (ถ้าคุณตั้งครรภ์แล้ว ห้ามฉีดวัคซีนนี้ตลอดระยะการตั้งครรภ์)

3) โรคทางกรรมพันธุ์ ตามประวัติของครอบครัวคุณทั้งสองฝ่ายมีโรคกรรมพันธุ์หรือไม่ เพราะโรคบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น ฮีโมฟีเลีย (Haemophilia) คือโรคที่เลือดไหลไม่หยุด เกิดจากการขาดสารที่ช่วยในการสร้างลิ่มเลือดในตับ ดังนั้น หากมีบาดแผลเกิดขึ้นที่ใดก็ตามเลือดจะออกไม่หยุด หรือโรคทาลัสซีเมีย (Thalassemia) คือโรคโลหิตจาง หรือโรคซีด ในประเทศไทยมีคนเป็นโรคนี้มากโดยเฉพาะแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ลูกคุณก็มีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ได้ ฉะนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ และอาจต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงใด

4) การใช้ยาหากรู้สึกว่าอาจจะตั้งครรภ์ควรงดใช้ยาทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเพราะมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาที่ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทางที่ดี ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาก่อนการตั้งครรภ์

5) เคยใช้หรือกำลังใช้ยาคุมกำเนิดคุณควรหยุดใช้ยาคุมกำเนิดทันทีและให้เวลาธรรมชาติของร่างกายคุณกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยควรรอให้มีประจำเดือนอย่างน้อย 3 ครั้งก่อนการตั้งครรภ์ โดยให้สามีคุณใช้ถุงยางอนามัยระหว่างนั้น

6) รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ หากคิดจะตั้งครรภ์ คุณควรหัดรับประทานอาหารให้ครบส่วน และกินผักสด, ผลไม้สดให้ติดเป็นนิสัย เพื่อจะได้มีโอกาสตั้งครรภ์ และมีบุตรที่แข็งแรง สุขภาพดี

7) ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายสดชื่น แข็งแรง เช่น เดินออกกำลังกาย, ว่ายน้ำ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายไม่ค่อยปวดหลัง ปวดเอว ขณะตั้งครรภ์ด้วย

8) เหล้า, บุหรี่ ถ้าคุณคิดที่จะตั้งครรภ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลิกดื่มเหล้าและงดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ความสามารถในการมีลูกลดลงทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพราะแอลกอฮอล์มีพิษทำลายคุณภาพของอสุจิและไข่ รวมทั้งทำลายเซลล์สมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์และมีโอกาสทำให้เกิดการแท้งบุตร ส่วนบุหรี่จะทำให้มีโอกาสคลอดทารกก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตระหว่างคลอด หากไม่เสียชีวิต ทารกมักมีน้ำหนักตัวน้อย คุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่แต่สูดดมควันบุหรี่จากคุณพ่อหรือผู้อื่นเป็นประจำ ก็มีผลเช่นเดียวกัน ฉะนั้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรงดสูบบุหรี่แล้ว คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่จากผู้อื่นอีกด้วย

9) น้ำหนักตัวถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อคิดตามส่วนสูงเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ถ้าน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป ควรพบแพทย์เพื่อควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรลดความอ้วน เพราะจะทำให้ทารกขาดสารอาหารที่จำเป็น

10) อายุอายุที่เหมาะสมจะมีบุตรของผู้หญิงเราคือ อายุ 20 - 30 ปี แต่ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานช้าลงและมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น หากคิดจะมีลูกเมื่ออายุเกิน 35 ปี ควรปรึกษาแพทย์ เพราะยิ่งมีลูกตอนอายุมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีลูกยากหรือมีลูกไม่สมบูรณ์ก็สูงขึ้นเท่านั้น

11) เวลาหากคุณทั้งคู่ทำงานหนัก แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน หรือแม้กระทั่งเวลาส่วนตัว คงต้องคิดทบทวนดูให้ดีก่อนจะมีลูก เพราะเด็กๆ ต้องการความรัก, ต้องการเวลา และความอบอุ่นจากพ่อแม่ เพื่อคอยดูแลเอาใจใส่เค้าตั้งแต่เป็นทารกแรกเกิดจนเติบโต เวลาสำหรับสังสรรค์กับเพื่อน, เข้าสังคม เที่ยวเตร่เฮฮา หรือแม้แต่เวลาส่วนตัวจะลดน้อยลงเต็มทีเมื่อคุณมีลูก

12) การเงินคุณควรคำนึงถึงความสามารถในการหารายได้ และขนาดของครอบครัวที่คุณต้องการว่าเหมาะสมกันแค่ไหน เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก เรื่องอาหารการกินอยู่ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ จิปาถะฯ ปรกติจะตกประมาณ 15 - 25% ของรายได้ครอบครัว หากคิดจะมีลูกก็ควรวางแผนในการเก็บเงิน และการใช้จ่ายเงินทองให้ดี เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดภาวะการเงินฝืดเคืองจนมีหนี้สินจำนวนมาก เป็นการนำความเครียดมาสู่ครอบครัวโดยใช่เหตุ


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก
http://www.sudrak.com

No comments:

Post a Comment